วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

ครูคือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้

ครูคือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
หนึ่งปีก่อนการประกาศเริ่มต้นยุคสารสนเทศ (information age) อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2533 ผู้เขียนเสนอบทความเรื่อง ครูคือใครในยุคสารนิเทศ (รสสุคนธ์ มกรมณี, 2532) ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการใช้คำว่าสารสนเทศ เพื่อให้มุมมองว่าครูควรเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของเทคโนโลยีต่างๆ โดยเปลี่ยนรูปแบบของกระบวนการเรียนการสอนจากการสอนแบบผู้ส่งสารไปเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ซึ่งมีบทบาทหลัก 4 ประการคือเป็นผู้วางแผน ผู้จัดการ ที่ปรึกษา และบุคคลตัวอย่างในการดำเนินงานจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียน และอีกสิบปีต่อมาได้เสนอบทความเรื่อง ครูกับทศวรรษของยุคสารสนเทศ (รสสุคนธ์ มกรมณี, 2543) เพื่อยืนยันแนวคิดที่เคยเสนอไว้ เพราะสภาพความเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลก ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการจัดการศึกษา เกิดรูปแบบการเรียนรู้ที่อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือให้ความรู้อย่างมากมาย อาทิ การศึกษาทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เนต คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การเรียนรู้แบบ e-learning ฯลฯ ซึ่งผู้เขียนในฐานะนักเทคโนโลยีการศึกษาก็มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ให้แก่สถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ จนเริ่มมองเห็นว่าเครื่องจักรกลสามารถแสดงบทบาทการสอนแทนครูได้ และความจำเป็นที่ต้องมีครูลดน้อยลงไป หากครูทั้งหลายยังแสดงบทบาทของตนเป็นเพียงเป็นผู้บรรยายหรือทำการสอนด้วยวิธีการบรรยายเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาความรู้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยประกาศเป็นปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทยใน พ.ศ. 2538 เพื่อสร้างวิสัยทัศน์และนโยบายที่เป็นรูปธรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับชาติ มีการเสนอประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ความสำเร็จของยุคสารสนเทศอยู่ที่ความสามารถในการสร้างคนให้เป็นคนที่มีจิตวิญญาณแห่งการยกย่องนับถือผู้อื่นและรักผู้อื่น (ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี, 2538) และเป็นประเด็นที่ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง การพัฒนาคนให้เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และจะทำได้ต้องใช้ฝีมือของมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่เครื่องจักรกล ครูคือผู้มีบทบาทสำคัญต่อภารกิจนี้ และต้องทำการสอนหรือให้การศึกษาอบรมในลักษณะที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการทั้งทางสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ อย่างเต็มศักยภาพและเป็นองค์รวม
นักการศึกษา อาทิ อมรวิชช์ นาครทรรพ (2539) และ พนม พงษ์ไพบูลย์ (2543) สนับสนุนประเด็นที่ว่าครูควรมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน โดยแสดงความคิดเห็นซึ่งสรุปได้ว่า ในโลกยุคใหม่ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนของครูจึงควรสอดคล้องกับแนวการปฏิรูปการศึกษา โดยผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก และลักษณะการสอนจะต้องมีความหลากหลาย สอนให้นักเรียนรู้จักคิด คิดเป็น ทำเป็น มีวิจารณญาณของตนเอง โดยครูจะต้องคอยให้คำชี้แนะ บทบาทของครูในอนาคตคือ การสอนวิธีหาความรู้ในโลกแห่งความรู้อันมากมายที่ไม่อาจสอนได้หมด
นอกจากนั้น Ward (1994) ซึ่งให้ความสำคัญต่อการสอนวิธีเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน (learning to learn) ได้กล่าวว่า ครูจะต้องเป็นผู้อำนวยการความสะดวกในการเรียนรู้ (learning facilitator) มีความรู้ความเข้าใจในระบบพื้นฐานทางกายภาพที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ใช้วิธีการสอนที่หลากหลายซึ่งมีความเหมาะสมกับความแตกต่างระหว่างบุคคล รู้จักจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนให้มีลักษณะจูงใจ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากพื้นฐานเดิม และสามารถกำหนดเป้าหมายของตนเองได้ ในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูจะต้องคำนึงถึงความสนใจ ความต้องการ และแรงจูงใจ ที่จะทำให้ผู้เรียนพัฒนาเต็มศักยภาพ รู้จักคิด วิเคราะห์ มีส่วนร่วม และรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
ยิ่งไปกว่านั้น สภาพปัญหาคุณภาพการศึกษาที่เกิดขึ้น จนจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษา เป็นเพราะการศึกษาของประเทศเราเน้นที่การถ่ายทอดเนื้อหาในห้องเรียน และการท่องจำจากตำราเป็นส่วนใหญ่ ผู้เรียนขาดประสบการณ์และการศึกษาจากความเป็นจริงรอบตัวทั้งใกล้และไกล การเรียนไม่ได้เน้นวิธีคิด จึงขาดวิจารณญาณว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง (ประเวศ วะสี, 2539) ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการสอนของครู ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเรียนรู้ แต่ประพฤติตนเป็นผู้บอกหรือถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ ทั้งๆ ที่การสอนหมายถึง การจัดสภาพการณ์ จัดสถานการณ์หรือจัดกิจกรรม อันเป็นการวางแผนการที่จะทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนดำเนินไปด้วยความสะดวก รวมทั้งการจัดการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่มีพิธีรีตอง (Good, 1975, หน้า 588) รวมทั้ง ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เกิดความงอกงามในด้านกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ตลอดจนความสามารถด้านอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต (สุพิน บุญชูวงศ์, 2544) ดังนั้น การเรียกร้องให้ครูเปลี่ยนแปลงบทบาทจากผู้สอนไปเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือผู้จัดการเรียนรู้ จึงเป็นความพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงประเด็นที่ควรเป็นจุดเน้นในพฤติกรรมการสอนของครู โดยใช้คำว่าการจัดการเรียนรู้แทนคำว่าการสอน ซึ่งเป็นการย้ำเตือนครูให้ตระหนักถึงความหมายของการสอนที่หลงลืมกันไป
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2540) กล่าวถึงลักษณะการสอนที่ดี 13 ประการ ประกอบด้วย การสอนที่มีการเตรียมการสอนมาอย่างดี ทำให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทุกด้าน จัดกิจกรรมการเรียนการสอนสอดคล้องวัตถุประสงค์ ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรม ตรงตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร มุ่งให้ผู้เรียนนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เร้าความสนใจผู้เรียน มีบรรยากาศส่งเสริมการเรียนรู้ ใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้ที่เหมาะสม บรรยากาศเป็นประชาธิปไตย มีกระบวนการที่ดี ใช้หลักการวัดผลและประเมินผลการเรียน และผู้สอนมีความเป็นครู ทั้งนี้ หากคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ การสอนในยุคนี้ (ศักดิ์สิทธิ์ พันธ์เขียว, 2542) ควรมีการจัดสภาพการณ์ที่ให้ผู้เรียนมีสมรรถภาพทางคอมพิวเตอร์ มีการใช้สื่อประสมและสื่อการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถศึกษาค้นคว้าทางวิชาการได้ทุกหนทุกแห่ง ทุกสถานที่ ไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน หรือในโรงเรียน มีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ได้เรียนรู้จากการทดลอง การฝึกการสังเกต การวิเคราะห์ วิจัย การบันทึก การเสนอผลงาน การอภิปราย การซักถามและการฟัง มีการแสวงหาความรู้ ค้นหาคำตอบจากแหล่งวิชาการต่างๆ ด้วยตนเอง จนกระทั่งมีความรู้อย่างแท้จริง สิ่งที่กล่าวมานี้ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า การสอนที่ดีจะต้องเน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้
ชนาธิป พรกุล. (2543) สนับสนุนว่า ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เช่นกัน โดยกล่าวถึงบทบาทของครูว่า การจัดการเรียนการสอนที่ครูเคยเป็นศูนย์กลางจะต้องเปลี่ยนมาเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ครูต้องหาทางให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เอง รู้วิธีเรียน และรักที่จะเรียนรู้ ครูจะต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยรับบทบาทใหม่ดังนี้ 1) ผู้จัดระบบการเรียนการสอน เริ่มตั้งแต่การศึกษาหลักสูตร ตลอดจนวางแผนการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เลือก ผลิตและใช้สื่อการเรียนการสอนวัดผลและประเมินผล และรวมไปถึงการจัดระเบียบวินัยในชั้นเรียน 2) ผู้จัดบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ด้านกายภาพ ได้แก่ การจัดชั้นเรียน วัสดุอุปกรณ์ แสงสว่าง ระบบเสียงให้นักเรียนรู้สึกสบายและอยากเรียน ส่วนด้านจิตวิทยา ได้แก่ การจัดชั้นเรียนให้ผู้เรียนมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน กล้าคิด กล้าทำ ให้โอกาสผู้เรียนได้ประสบความสำเร็จทุกคน 3) ผู้ชี้นำหรือแนะแนวทาง เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาความรู้โดยการสังเกต การสำรวจ การทดลอง ซึ่งเป็นวิธีการให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง 4) ผู้สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน เพื่อพร้อมที่จะเข้าใจ ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อให้ผู้ได้เรียนรู้ได้อย่างราบรื่น 5) ผู้เสริมแรง เพื่อให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่ครูต้องการ และเป็นการย้ำให้ผู้เรียนมั่นใจในการกระทำของตนเอง จะได้พัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น โดยเลือกโอกาสในการเสริมแรงให้เหมาะสม 6) ผู้ถามคำถาม เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด และใช้คำถามเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียน 7) ผู้ให้ข้อมูลย้อนกลับ เมื่อผู้เรียนลงมือปฏิบัติย่อมต้องการทราบผลการกระทำของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น